Once in Leh Ladakh – เล่า เรื่อง “เลห์”

IMG_5856

“ทำไมถึงไปเที่ยวอินเดีย?”

เป็นคำถามที่ได้ยินจากเพื่อนหลายๆ คน ที่รู้ว่าทริปต่อไปของเรา คือ “อินเดีย”
ประเทศที่เคยตั้งใจว่า ชีวิตนี้จะไม่ไปเที่ยวเป็นอันขาด เพราะเป็นคนที่ไม่อินกับความเป็นอินเดียเลย
ทั้งอาหารการกิน  วัฒนธรรม เห็นแขกก็หวั่นๆ ที่สำคัญสุด คือเรื่องความสะอาดและกลิ่นเครื่องเทศ

แต่การตัดสินใจไปอินเดียครั้งนี้ เพราะภาพความสวยงามของ “Leh Ladakh” ที่มีให้เห็นใน Facebook, Instagram และรีวิวอีกหลายกระทู้ในอินเตอร์เน็ตที่ต่างบรรยายสรรพคุณของเลห์ว่ามันสวยมาก และก็ไม่ได้แย่แบบที่คนทั่วไปคิด ทำให้เราตัดสินใจที่จะไป “ลองของ” ที่เลห์กันสักตั้ง กะว่าถ้าไปแล้วรัก ก็จะไปอีกเรื่อยๆ แต่ถ้าไปแล้วไม่ชอบ ก็เจอกันครั้งเดียวพอ

ก่อนไปก็หาข้อมูลไปพอสมควร ทั้งข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว การเตรียมสภาพร่างกายก่อนไป อาหารการกินต่างๆ แต่พอเจอของจริงกลับรู้สึกว่า ทำไมรีวิวที่เขาเขียนกันมันช่างดูดีจังเลย ไม่ค่อยเหมือนกับสิ่งที่เราได้สัมผัสสักเท่าไร จึงอยากเขียนรีวิวนี้ขึ้นมา เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ 7 วันที่อินเดียในมุมมองของเรา อาจจะมีแง่มุมที่ดี และไม่ดี (อย่างที่คิดไว้) บ้าง ก็หวังว่ารีวิวนี้จะมีประโยชน์ ในแง่ของการเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความพร้อม เพื่อให้การท่องเที่ยวในเลห์เป็นไปอย่างราบรื่น เผื่อใครที่คิดว่าเราจะไปไหวไหม จะได้ตัดสินใจกันได้ก่อนไป เกิดตัดสินใจไปแล้วไม่ถูกจริตตัวเอง จะพาลไม่สนุกซะงั้น

เตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

DSC03495
ไปเที่ยวเลห์ช่วงไหนดี?

สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวของเลห์ จากการสอบถามไกด์ท้องถิ่น แนะนำว่าเดือนที่เที่ยวแล้วดีที่สุด ในแง่ของอากาศ และความสะดวกในการเดินทาง ก็คือช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม แต่จริงๆ แล้วช่วงปลายหน้าหนาว ตั้งแต่เดือน เมษายน ก็สามารถมาเที่ยวได้ แต่อาจจะต้องมาลุ้นว่าจะสามารถขับรถข้ามไปเที่ยวที่เมืองอื่นๆ ได้ไหม เพราะช่วงนั้นหิมะบนยอดเขายังมีอยู่ อาจมีปัญหาเรื่องหิมะถล่ม หรือถ้าโชคไม่ดี อาจเจอพายุหิมะจนไม่สามารถเดินทางต่อได้

พอเลือกช่วงเวลาที่จะไปได้แล้ว แนะนำให้หาตั๋วเครื่องบินไว้เนิ่นๆ อย่างน้อย 6 เดือน ถ้าอยากได้ตั๋วราคาดีๆ โดยเฉพาะใครที่มีแพลนเดินทางในช่วง Hi Season อย่างเดือน ก.ค. – ส.ค. อย่ามัวรอจองใกล้ๆ เพราะราคาตั๋วอาจแพงพอๆ กับไปยุโรปได้


สายการบินไหนดี?

เนื่องจากไม่มีสายการบินที่บินตรงจากกรุงเทพฯ ไปที่เลห์ เราจึงต้องจองทั้งหมด 4 ไฟลท์ (ไป 2 กลับ 2) คือ บินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่เดลี และต่อจากเดลี ไปเลห์

โดยส่วนตัว แนะนำสายการบิน Full Service ที่มีไฟลท์ไปที่เลห์ (และออกจากไทย) เช่น Air India หรือ Jet Airways ที่จะมีไฟล์ทต่อเนื่องกัน (Connecting flight) เพราะที่สนามบินเดลี จะมี 2 Terminal คือ Terminal 1 และ 3 ซึ่งอยู่ห่างกันมาก ต้องนั่งรถบัสเพื่อเชื่อมต่อระหว่าง Terminal ถ้าใช้บริการสายการบินเดียวกันไปเลย (และจองใน booking เดียวกัน) จะได้ไม่มีปัญหาเวลาต่อเครื่อง (ไว้เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังอีกที)

กับอีกทางเลือกหนึ่งคือจองแยกไปเลย เช่น จากไทย บินการบินไทย แล้วมาต่อเครื่อง Low cost ของอินเดีย เพื่อประหยัดงบ อันนี้ก็ควรเลือกให้ดี เพราะควรเป็นสายการบินที่อยู่ Terminal เดียวกันเพื่อความสะดวกในการต่อเครื่องเช่นกัน

สำหรับทริปนี้ หลังจากได้ช่วงเวลาที่อยากไป เราก็ลองกดหาตั๋วเครื่องบิน (ใช้ app SkyScanner เลย สะดวกดี) โชคดีที่มีตั๋วราคาโปรโมชั่นจาก Air India หลุดมา ราคา 11,xxx บาท (ไป-กลับทั้ง 4 ขา) เรียกได้ว่าจองรอบเดียว ได้ราคานี้เลย ถือว่าถูกมาก ประหยัดงบได้เยอะ เวลาการเดินทางตามนี้

ขาไป

BKK 8.55 น. – DEL 12.00 น. (ค้างที่เดลี 1 คืน)

DEL 5.55 น. – IXL (Leh) 7.15 น.

ขากลับ

IXL (Leh) 11.00 น. – DEL 12.20 น.

DEL 13.50 น. – BKK 19.35 น.

เที่ยวบินขาไป ทำ Internet Check in เพื่อเลือกที่นั่งขาไปทั้ง 2 ขาได้เลย แต่เวลาบินขาแรก จะได้ Boarding pass ขาเดียวจากกรุงเทพฯ ไปเดลี เท่านั้น ถึงสนามบินรับกระเป๋าออกตามปกติ (ไม่ต้องทำเรื่อง Stopover ใดๆ) พอตอนเช้าอีกวัน ก็มาเช็คอินรับ Boarding pass และโหลดกระเป๋า ที่สนามบินอีกที (Air India จะอยู่ที่ Terminal 3 ทั้ง Domestic และ International flight)

ส่วนขากลับ มีเวลาต่อเครื่องแค่ 1 ชม.ครึ่งเท่านั้น หลายคนอาจจะกังวลว่าจะมาต่อเครื่องไม่ทัน (ตอนจองเราก็กลัว) แต่สรุปว่าทัน โดยพอถึงสนามบิน Leh ให้แจ้งกับกราวน์สนามบินตอนเช็คอินได้เลย ว่าเรามีไฟล์ทต่อ จากเดลีไปกรุงเทพ กราวน์จะติด Tag ที่กระเป๋าเราว่า Transfer จึงไม่ต้องไปรอรับกระเป๋าที่สนามบินเดลีอีกรอบ ไม่ต้องออกไปเช็คอินใหม่

จากสนามบินเลห์ เราจะได้รับ Boarding Pass มา 1 ใบ (IXL – DEL) พอเครื่องมาถึงที่สนามบินเดลี จะมีพนักงานมารอรับตรงทางออกจากเครื่องบิน เพื่อพาเราไปที่จุดต่อเครื่อง โดยจะมีเคาน์เตอร์ ออก Boarding pass จาก DEL – BKK ให้ ที่จะไปเสียเวลาก็คือต้องผ่าน ตม. (ที่ทำงานช้ามาก) กับการโดนตรวจ แสกนร่างกายอีก 2 ด่าน ถึงจะเข้าไปใน Gate ซึ่งพนักงานก็จะให้ความช่วยเหลือในการลัดคิวให้บางจุด เพราะไม่งั้นตกเครื่องแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ จึงอยากจะแนะนำว่า ถ้าจองทั้ง 4 ไฟลท์เป็นสายการบินเดียวกัน Booking เดียวกันไปเลย ยังไงๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะสายการบินต้องดูแลจัดการให้เราอยู่แล้ว แต่หากจองแยก Booking หรือต่างสายการบินกัน แนะนำว่าให้เลือกไฟลท์ที่ไม่ติดกันมาก อย่างน้อยให้มีเวลาต่อเครื่อง 4 – 5 ชม. ขึ้นไป (ถ้าเป็นสายการบินที่อยู่คนละ Terminal ก็ควรเผื่อเวลาให้เยอะไปอีก) เพราะคุณต้องรับกระเป๋าก่อนแล้วกลับมาเช็คอินใหม่ ซึ่งมันจะเสียเวลามากโดยเฉพาะการผ่านด่านตรวจต่างๆ ของสนามบินเดลี ซึ่งมีมากด่าน และตรวจละเอียดเว่อร์ ซึ่งเป็นเหตุที่อาจทำให้คุณตกเครื่องได้ถ้าเผื่อเวลาไม่ดี

อย่าลืมทำ VISA

ไปเที่ยวอินเดียไม่ฟรีวีซ่า ดังนั้นอย่าลืมทำวีซ่าก่อนไป แนะนำให้ทำ Online เพราะราคาถูกกว่าไปทำที่สถานฑูต และสะดวกสบายกว่า ใช้เวลา 1-2 วันก็ได้รับอีเมล์ตอบกลับแล้ว แต่อย่าลืม Print หน้าวีซ่าที่ได้ในอีเมล์ตอบกลับ ไว้ไปยื่นให้ที่สนามบินดูด้วยนะครับ

สำหรับรายละเอียดการทำ VISA ดูตัวอย่างตามกระทู้นี้ได้เลยครับ
https://pantip.com/topic/34229226

DSC03946

 

แต่งตัวยังไง?

ทริปของเราเดินทางในช่วงวันที่ 2 – 9 กรกฎาคม 2560 อากาศที่เลห์กำลังเย็นสบาย (ช่วงแดดจ้าๆ ก็ร้อนบ้าง) อุณหภูมิเฉลี่ยไม่เกิน 25 องศา ประมาณหน้าหนาวเชียงใหม่ เสื้อผ้าที่เตรียมไปก็ไม่ต้องหนามาก ใส่เสื้อแขนยาวตัวเดียวพอไหวอยู่ ยกเว้นเวลาขึ้น Pass ( จุดที่สูงสุดเวลาจะข้ามเขาไปเที่ยวที่เมืองอื่น) อากาศจะหนาวมากเป็นพิเศษ (ตอนที่เราไปเจอพายุหิมะ) ก็ควรเตรียมเสื้อหนาวหนาๆ ไว้ใส่คลุมตอนออกไปเดินเล่นถ่ายรูปที่ Pass สักตัว

ส่วน Accessories อื่นๆ ที่แนะนำว่าห้ามลืม ก็คือ แว่นกันแดด เพราะแดดจ้ามาก และควรเตรียมผ้าปิดปาก หรือ mask ติดไปด้วย เพราะฝุ่นเยอะ

 

เดินทางในเลห์ยังไง?

ระบบขนส่งสาธารณะในเลห์ค่อนข้างลำบาก จึงแนะนำให้เช่ารถ(พร้อมคนขับนะ อย่าขับเอง) ซึ่งจะคิดราคาเป็นเรทมาตรฐานตามระยะทางที่ไป รถที่นิยมเช่ากันมาก ก็คือ Toyota Innova เพราะนั่งสบาย ถ้าจะให้ดีต่อคัน ไม่ควรเกิน 4 คน (ไม่รวมคนขับ) ดังนั้น ถ้าคิดจะไปเที่ยวเลห์คนเดียวหรือสองคน ก็เผื่อใจไว้เลยว่าอาจจะต้องจ่ายค่ารถแพง (เพราะตัวหารน้อยลง) หรืออาจจะต้องใช้วิธีไปหาคนแชร์รถด้วยกันตามบริษัททัวร์ในเมืองเลห์ แต่ก็ต้องรอคนมาแชร์ ซึ่งเสียเวลา และอาจจะวางแผนการเที่ยวได้ยาก

สำหรับทริปนี้ เราตัดสินใจจ้างไกด์ ซึ่งไกด์จะจัดหารถให้เลย เพียงแต่เราแจ้งแพลนการเดินทางให้เขาทราบ ไกด์จะช่วยจัดและปรับเปลี่บนให้เหมาะสมอีกที ซึ่งทริปนี้เราไปกัน 4 คน หารค่าไกด์ + ค่ารถทั้งหมดแล้ว ต่อคนไม่ถึง 7 พันบาท / 7 วัน ก็ถือว่าโอเคเลยทีเดียว

 

พักที่ไหนดี?

สำหรับที่พักในเลห์ จากรีวิวส่วนใหญ่นิยมไปพัก Guest house ที่อยู่ไม่ไกลจากตลาดนัก
แต่โดยความเห็นส่วนตัว ทริปนี้เราพักในเลห์ทั้งหมด 4 คืน 2 คืนแรกพักที่พักซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไป ส่วน 2 คืนสุดท้ายพักใกล้ตลาด ความรู้สึกต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะในตลาดจอแจมาก กลางคืนมีเสียงแตร เสียงคนเดินผ่านไปมาจนถึงเกือบเที่ยงคืน พอช่วงเช้ามืดมีเสียงสวดมนต์ เสียงละหมาดออกเสียงตามสายมาอีก ผิดกับการพักที่ Guest house ที่อยู่นอกเมือง อากาศและสภาพแวดล้อมดีกว่า เหมาแก่การพักผ่อนอย่างยิ่ง ถ้าเลือกได้ ไปพักนอกเมืองเถอะ คุณจะได้พักผ่อนนอนหลับได้อย่างเต็มที่ เรื่องตลาดไม่ต้องไปสนใจมาก เพราะยังไงเราก็เช่ารถอยู่แล้ว ออกไปตลาดกินข้าวช็อปปิ้ง ซื้อของกินมาตุนไว้สบายๆ อีกอย่าง ต่อให้อยู่ใกล้ตลาด แต่หลัง 2 ทุ่มให้ออกมาเดินเล่นที่ตลาดก็แอบน่ากลัวอยู่ ร้านค้าก็เริ่มปิดกันแล้ว ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการนอนใกล้ตลาด ใกล้เมืองสักเท่าไร

ส่วนที่พักที่เมืองอื่นๆ เช่น Nubra Valley หรือ Pangong ลองเช็คจากเว็บจองโรงแรมต่างๆ ดู ถ้าสนใจโรงแรมหรือ Guest house ไหน แนะนำให้ติดต่อจองกับที่พักโดยตรง เพราะส่วนใหญ่เขาจะให้ไปจ่ายตอนเข้าพัก หากแพลนของเราเปลี่ยน สามารถยกเลิกได้โดยไม่โดนหักเงิน ซึ่งจะต่างกับการจองผ่าน booking / expedia / agoda เพราะถ้าคุณจะยกเลิก จะโดนหักเงินไปตามเงื่อนไขการจอง (เดี๋ยวในรีวิวจะมีรีวิวที่พักให้อ่านกันด้วยครับ)

 

เตรียมตัวขึ้นที่สูง

เลห์อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000 เมตร คนที่อยู่ในระดับน้ำทะเลแบบพวกเราต้องไปอยู่ที่สูงที่มี Oxygen เบาบางแบบนั้น อาจจะทำให้เกิด Altitude sickness ได้ โดยจะมีอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร หรือแย่สุดอาจถึงขั้นโคม่า หมดสติไปเลยได้ ดังนั้นก่อนไปแนะนำให้รับประทานยา Diamox เพื่อป้องกันการเกิด Altitude sickness

ยา Diamox มีขายตามร้านขายยาทั่วไป (แต่เราเบิกจาก รพ. เราไปเอง)
Dose ที่แนะนำ คือ ก่อนไป 24 – 48 ชม. ให้รับประทาน Diamox (250mg) 1/2 – 1 เม็ด ทุก 12 ชม.
หลังจากไปถึงเลห์แล้ว ให้รับประทานต่อไปอีก 3 วัน
โดยส่วนตัวก่อนขึ้นไปเลห์ ผมกินครั้งละ 1/2 เม็ด แต่หลังจากอยู่ที่เลห์แล้ว ผมปรับยาเพิ่มเป็นกินครั้งละ 1 เม็ดต่อไปอีก 3 – 4 วัน เพราะพอไปถึง รู้สึกมีอาการเวียนศีรษะและอ่อนเพลียค่อนข้างมาก เลยปรับ Dose ขึ้นไป แต่น้องๆ ที่ไปด้วยกันกิน 1/2 เม็ดตลอด ก็ไม่มีอาการผิดปกติ

 

แลกเงินไปเท่าไรดี?

ด้วยความที่เป็นคนไม่อินกับสินค้าของอินเดียเท่าไร หลักๆ ก็เลยแลกเงินไปเพื่อจ่ายค่าที่พัก ค่าไกด์ เผื่อค่ากินและค่าของฝากไปอีกนิดหน่อย (ลองคำนวณค่าใช้จ่ายพื้นฐานของแต่ละคนดูนะครับ ว่าส่วนที่ต้องจ่ายแน่ๆ ประมาณเท่าไร แล้วค่อยเผื่อค่ากินค่าช็อปเพิ่มไป) ผมแลกไป 2 หมื่นบาท (ประมาณ 38,000 รูปี) ใช้ไปจริงๆ แค่ประมาณ 3 หมื่นรูปี (รวมทุกอย่างแล้ว) สำหรับค่าใช้จ่ายใน 7 วัน (รวมวันแรกที่เดลีด้วย)

แลกเงินที่ไหนดี –> Superrich เลยครับ (ผมแลกร้านเขียว ตรงข้าม Central World) เรทดี และมีเงินรูปีให้แลกได้เลย ไม่ต้องรอ
ส่วนเวลาจะแลกคืน แนะนำให้ใช้แบงค์ย่อย เช่น แบงค์ 50, 100 จะได้เรทแลกคืนสูงกว่าแบงค์ 2,000 หรือ 500 ครับ
วางแผนการเดินทาง

กาดอกจันทร์ 300 ดอกไว้สำหรับหัวข้อนี้ อยากบอกว่าการไปเที่ยวเลห์ มันต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่เราจะต้องเผื่อวันให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศที่มี Oxygen เบาบาง ดังนั้น ใครที่คิดจะไปน้อยกว่า 5 วัน อย่าไปเลย เพราะมันจะเหนื่อยมาก และอาจได้ชะโงกทัวร์แทน ถ้าอยากเที่ยวสบายๆ เก็บไฮไลท์ได้ครบ อย่างน้อยสัก 6-7 วัน กำลังดี และอยากให้เผื่อ 2 วันแรกที่เลห์ ไว้สำหรับให้ร่างกายปรับตัวก่อน หลังจากนั้นค่อยข้าม Pass ไปเที่ยวเมืองอื่นๆ ร่างกายจะได้ไม่เสี่ยงกับการเป็น Altitude sickness

สำหรับแผนการเดินทางของเรา ตามนี้เลย

2 July – บินถึง New Delhi ตอนเที่ยง / เที่ยวในเดลีครึ่งวันบ่าย (ไป Red Fort / Jama Masjid)
3 July – บินไป Leh ถึงช่วงสายๆ นอนพักผ่อน / บ่ายเที่ยว Shanti Stupa, Leh Palace
4 July – Hemis Monastery (ตรงกับวันที่ 2 ของ Hemis Festival), Thiksey gompa, Shey Palace
5 July – เดินทางไป Nubra Valley ผ่าน Khardung La Pass, แวะเที่ยว Diskit Monastery ค้างที่หมู่บ้าน Hunder
6 July – Sand dune ที่ Nubra Valley เดินทางกลับ Leh
7 July – One day trip Pangong Lake กลับมาพักที่ Leh
8 July – Magnetic Hills, Zanskar & Indus River Viewpoint, Alchi temple, Lamayuru
9 July – เดินทางกลับ

 

 

Half day in Delhi – ไม่โดนโกงเหมือนมาไม่ถึง

เริ่มต้นบรรยากาศแบบอินเดียกันตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง เพราะขนาดผ่านการตรวจจากเครื่อง x-ray ของสนามบินแล้ว เพื่อความปลอดภัย (หรือย้ำคิดย้ำทำ) ของสายการบิน Air India พวกเราต้องถูกตรวจค้นสัมภาระและตรวจค้นร่างกายก่อนผ่านเข้าไปใน Gate อีกรอบ โดยภาพรวมสายการบิน Air India ก็บริการใช้ได้นะครับ อาหารจะมีให้เลือก 2 อย่าง คือ มังสวิรัติ กับ เมนูที่มีเนื้อไก่ ซึ่งก็ต้องไปลุ้นว่าอาหารที่เป็นไก่จะเป็นเมนูอะไร อย่างขาไปเป็นออมเลทกับไส้กรอกไก่ ส่วนขากลับเป็นข้าวแกงกะหรี่ไก่ (กลิ่นเครื่องเทศแรงมาก) กับไก่ผัดซอสแบบจีน ส่วนเมนูมังเท่าที่เห็นจะเป็นถั่วหมักซอสอะไรสักอย่าง กินคู่กับแผ่นโรตี เรื่องการบริการก็ดีตามมาตรฐานครับ ดีตรงที่เป็น Star Alliance สามารถสะสมไมล์ ROP miles ได้

air india

บรรยากาศบนเครื่อง เต็มไปด้วยคนอินเดีย กลิ่นตลบอบอวลพอควรแต่ก็พอรับไหว คนไทยและต่างชาติอื่นๆ มีให้เห็นประปราย นั่งแปบๆ 4 ชม.ครึ่งก็ถึงละ

แผนการเที่ยวในเดลี เราแพลนจะเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินเป็นหลัก เพราะไม่อยากไปเสียเวลาต่อรองกับแท็กซี่ พอถึงสนามบินเดลี จึงตั้งใจจะเอากระเป๋าไปเก็บที่ที่พักกันก่อน สำหรับคืนแรกในเดลี เราเลือกพักที่ Ibis ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินประมาณ 3 กม. และไม่ไกลจากสถานี Aerocity (เดินประมาณ 400 เมตร) แต่ด้วยความที่กระเป๋าใหญ่ และเยอะ ขี้เกียจแบก เราจึงเลือกที่จะนั่งแท็กซี่จากสนามบินไปโรงแรม

พอรับกระเป๋าและเดินออกมา จะเจอป้ายที่ชี้บอกทางไปเรียกแท็กซี่ พอใกล้ถึงทางออกจะมีเคาน์เตอร์แท็กซี่คอยเรียกลูกค้าอยู่ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเคาน์เตอร์พวกนี้อยู่ในสนามบิน ไม่น่าโกง (แต่คิดผิด) พอเดินเข้าไป พนักงานจะเอาตารางแสดงราคาค่าแท็กซี่ให้ดู โดยระยะทาง 0 – 10 กม. แรก เป็นราคาเหมาจ่าย 1,000 รูปี (ประมาณ 500 บาท) คือทุกคนก็รู้สึกว่าแพง ทำท่าจะไม่เอาในตอนแรก พนักงานจึงถามพวกเราว่า “Do you want discount?” พวกเราจึงหูผึ่งและฟังต่อ สรุปก็คือ จะลดให้เหลือ 900 รูปี เราก็เลยตกลง และก็รับใบเสร็จมา (แต่ยังไม่ทันได้เปิดดู)

ออกมาด้านนอกสนามบิน เราก็ได้พบกับเคาน์เตอร์เรียกแท็กซี่ (ซึ่งเป็นของสนามบินจริงๆ และไม่น่าจะโกง) อยู่ด้านนอก แต่นี่จ่ายเงินไปแล้วไง ก็เลยมองหาแท็กซี่ที่จะพาไปส่งโรงแรม หลังจากขึ้นแท็กซี่ปุ๊บ นึกยังไงไม่รู้เอาใบเสร็จออกมาเปิดดู สรุปในใบเสร็จเขียนว่าเราจ่ายเงินไป 600 รูปี ซึ่งราคาจริงๆ แล้ว เรทมาตรฐานจากสนามบิน ไปโรงแรมของเราคือ 600 รูปี ส่วน 300 รูปีที่จ่ายเกิน ก็เข้ากระเป๋าพี่แขกไปตามระเบียบ

***ดังนั้น เคาน์เตอร์หรือร้านค้าที่อยู่ในสนามบิน ไม่ได้น่าเชื่อถือเสมอไป สามารถโกงเราได้ตลอดเวลา กรุณาระมัดระวัง***

พอ Check-in เก็บกระเป๋าสัมภาระกันเรียบร้อย ก็ได้เวลาไปลุยเดลีกัน โดยเราเลือกที่จะเดินทางด้วย MRT ซึ่งค่อนข้างสะดวก ราคาไม่แพง และไปถึงสถานที่เที่ยวอย่าง Red Fort และ Jama Masjid ได้เลย โดยไม่ต้องต่อรถอะไรอีก

DSC03251
บรรยากาศในสถานี MRT Aerocity

สถานีที่ใกล้ รร. ของเรา คือ สถานี Aerocity ซึ่งอยู่ใน Airport Express Line สำหรับสายนี้ต้องจ่ายเงินแยกจาก MRT สายอื่น จึงไม่สามารถใช้ One day ticket รวมกับสายอื่นๆ ต้องจ่ายแยก จาก Aerocity ไป New Delhi ราคา 50 รูปี

DSC03253

จาก Aerocity ไป New Delhi 3 สถานี ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

DSC03256

ภายในรถไฟดูสะอาด บรรยากาศดูโมเดิร์น ดูดีกว่า Airport Link บ้านเราอีก

พอถึงสถานี New Delhi (Airport Express) เราต้องออกจากสถานี เพื่อมาเข้าสถานี MRT New Delhi เพื่อต่อรถไปที่ Red Fort ซึ่งภายในสถานี MRT New Delhi เราก็ได้พบความแออัดและวิบากกรรมของจริง

IMG_5170

บรรยากาศภายในสถานี MRT New Delhi ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์

IMG_5171

คิวซื้อตั๋ว แถวยาวและแทบไม่ขยับเลยจ้า

เนื่องจากคิวที่ยาวมาก (และไม่ค่อยขยับไปไหน) เราจึงตัดสินใจซื้อบัตรเติมเงินแทน (คล้ายบัตร Rabbit ของบ้านเรา) ถึงราคาจะแพงกว่า แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องต่อคิวซื้อตั๋วแบบนี้ทุกครั้ง ราคาบัตร = 150 รูปี (มัดจำบัตร 50 รูปี ใช้ได้ 100 รูปี สามารถเอาบัตรมาแลกค่ามัดจำคืนได้ เมื่อเลิกใช้)

IMG_5172

บัตรเติมเงิน สามารถซื้อได้ที่ Customer Care
(พนักงานอาจจะโยนบัตร โยนเหรียญให้เรา อย่าได้ถือสา เพราะเป็นเรื่องปกติของที่นี่)

 จุดหมายแรกที่เราจะไปในวันนี้ คือ Red Fort โชคดีที่ช่วงที่ไปมี MRT สายสีม่วง ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สามารถนั่งไปลงที่สถานี Lal Quila ได้เลยทันที (หรือหากใครจะไป Jama Masjid ก็สามารถนั่งไปลงที่สถานี Jama Masjid ได้เลย)

VioletLineMap2

จาก MRT New Delhi (สายสีเหลือง) นั่งไปลงที่สถานี Kashmere Gate เพื่อเปลี่ยนไปสายสีม่วง นั่งต่อไปอีก 1 สถานีเพื่อลงที่สถานี Lal Quila

IMG_5173

ถึงสถานี Lal Quila ให้ออกทาง Gate No.4 เดินออกไปปุ๊บจะเจอ Red Fort อยู่ทางด้านซ้ายมือ

นี่สิอินเดียของจริง…

ออกจากสถานี MRT แล้ว นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว สิ่งแรกที่ได้สัมผัส คือ เสียงแตรรถยนต์ดังลั่น รถติด บ้านเมืองและร้านขายของข้างทางที่ดูรกๆ ไร้ระเบียบ อยู่ด้านหน้า Red Fort ซึ่งใหญ่โตสวยงามอลังการณ์ น่าเสียดายที่แหล่งท่องเที่ยวสวยๆ แบบนี้ ถูกลดทอนความสวยงามลงด้วยทัศนียภาพโดยรอบ

DSC03278
รถโดยสารสีเหลืองที่เรียกว่า “Auto rickshaw” ถ้าเทียบกับบ้านเราก็คงคล้ายๆ แท็กซี่ผสมตุ๊กตุ๊ก

DSC03265

Red Fort ใหญ่โต สวยงาม อลังการณ์ คนเยอะมาก

นอกจากต้องเดินดูทาง หามุมสวยๆ ไว้ถ่ายรูป ก็ต้องคอยระมัดระวังกระเป๋าและสัมภาระที่แบกมาด้วย ขณะเดินเข้าไปใน Red Fort ก็เจอกลุ่มชายหนุ่มอินเดียตะโกนเรียก หรือบางคนก็เดินเข้ามาหาเพื่อขอถ่ายรูป Selfie ด้วย ตอนแรกนี่ก็งงๆ แต่พอเจอบ่อยๆ ก็เริ่มชิน 555 รู้สึกแปลกเหมือนกันว่าทำไมคนที่นี่ถึงชอบขอนักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายรูป หรือเพราะเขาเห็นว่าเราดูประหลาด?

DSC03264DSC03270
พอเห็นคิวซื้อตั๋ว ถึงกับต้องเปลี่ยนแผน เพราะตอนที่ไปถึงก็ใกล้เวลาที่ Red Fort จะปิดแล้ว กว่าจะต่อคิวซื้อตั๋วได้ คาดว่าจะไม่ทัน เลยต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เป็นการเดินชมรอบๆ แทน และเดินต่อไปที่ Jama Masjid เลย

DSC03263

คิวซื้อตั๋วเข้า Red Fort (ต่อคิวไม่ถูกด้วย เพราะยืนกันงงๆ ไม่รู้ใครต่อแถวรอซื้ออยู่บ้าง)

DSC03271

DSC03275

DSC03276

DSC03277

หลังจากเดินเล่นรอบๆ Red Fort แล้ว เราก็เดินต่อไปที่ Jama Masjid ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 1 ก.ม. ดูเหมือนระยะทางไม่ไกลมาก แต่เป็น 1 ก.ม. ที่เดินแล้วเหนื่อยมาก ลองจินตนาการดูว่าการเดินไปบนฟุตบาท ที่แทบไม่เหลือที่ให้เดินเพราะมีแต่ร้านขายของข้างทาง บนถนนก็เต็มไปด้วยรถซึ่งบีบแตรใส่สลับคันไปมาตลอดเวลา แถมต้องเดินหลบน้ำขังตามถนน หลบรถที่พร้อมจะชนเราได้ตลอด ตาก็ต้องมองทาง หูต้องฟังเสียงแตร คอคล้องกล้อง ไหล่แบกกระเป๋า มือต้องคอยจับกระเป๋ากางเกงเพื่อตรวจสอบสัมภาระ แถมอากาศที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนของอินเดียไปอีก ไม่นับกลิ่น (ซึ่งเราว่ามันไม่แย่เท่าที่คิดไว้) กว่าจะไปถึง Jama Masjid ได้ เรียกว่าเหนื่อยสุดๆ

DSC03287

ความจอแจด้านหน้า Jama Masjid

DSC03280

บริเวณประตูทางเข้า Jama Masjid

DSC03282

เราไปถึง Jama Masjid ประมาณ 5 โมงเย็น พอจะเดินเข้าไปด้านใน ก็ถูกชายอินเดียคนหนึ่งมาสกัดเอาไว้ บอกว่ายังเข้าไม่ได้ เพราะถึงเวลาละหมาด ต้องรออีกประมาณครึ่ง ชม. กลุ่มของเราเลยนั่งเล่น ถ่ายรูปรออยู่บริเวณบันได้ด้านหน้า นั่งสังเกตการณ์บรรยากาศรอบนอกทั้งสถานที่ และผู้คน น่าเสียดายที่สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และมีความสำคัญทางวัฒนธรรมอย่าง Red Fort และ Jama Masjid รวมถึงหลายๆ แห่งในอินเดีย กลับถูกละเลย และถูกทำให้ทรุดโทรม สกปรก โดยคนอินเดียเอง โดยเฉพาะการทิ้งขยะไม่เลือกที่ ทำให้ดูสกปรกไปหมด

DSC03293

ระหว่างนั่งรอเข้าไปใน Masjid ก็มีคนโยนขยะทิ้งลงมาเรื่อยๆ เหมือนเป็นเรื่องปกติ

DSC03286

บ้านเมืองโดยรอบดูทรุดโทรม รวมถึงบริเวณภายใน Masjid

พอถึงเวลา พวกเราจึงเดินไปที่หน้าประตูอีกครั้ง คนอินเดีย และนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เริ่มถอดรองเท้าและถือเดินเข้าไปในมัสยิด พอเราจะเดินเข้าไปปุ๊บ ก็ถูกชายชาวอินเดีย 2-3 คนมาดักไว้ บอกว่าให้จ่ายค่าเอากล้องเข้าก่อน 350 รูปี (อันนี้ไม่แปลกใจ เพราะมันต้องเสียอยู่แล้ว) เราก็จ่ายเงินไป หลังจากนั้น ผู้ชายคนหนึ่งในกลุ่มบอกให้เราถอดรองเท้าและฝากเอาไว้ที่นี่ ไม่ให้ถือเข้าไป พร้อมกับยื่นผ้าคลุมให้น้องผู้หญิงใส่ พวกเรายืนกรานว่าจะถือเข้าไปเอง เพราะคนอื่นๆ ก็ถือเข้าไปได้ และจะไม่เอาผ้าคลุมเพราะชุดที่น้องใส่มาก็สุภาพ แต่สุดท้ายก็โดนดึงรองเท้าไปเก็บในหีบที่พวกนี้เตรียมไว้แล้ว พร้อมบอกว่าผ้าไม่คิดเงิน ให้ใส่ไปด้วย น้องๆ ที่ไปด้วยกลัวว่ารองเท้าจะหาย แต่ก็ไม่รู้จะเถียงยังไงกับคนพวกนี้ดี เลยทำใจให้เก็บรองเท้าไปแล้วค่อยลุ้นอีกทีตอนออก

DSC03319

ถ้าใครจะมาเที่ยวที่นี่ แนะนำให้มาตอนเช้า เพราะช่วงเย็นย้อนแสงเต็มๆ

DSC03324

คิดว่าจะจบแค่นี้ แต่ก็มีไกด์ไม่ได้รับเชิญ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนั้นแหละ ทำหน้าที่เป็นไกด์ กวักมือเรียกให้เดินตามไป ก่อนมาเราก็ได้อ่านกระทู้เตือนภัยมาแล้ว ว่าอาจเจอแก๊งรีดไถเงินนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการแบบนี้ เราจึงบอกกับไกด์เป็นภาษาอังกฤษไปว่า เราไม่ต้องการไกด์ จะเดินเที่ยวเอง แต่นางก็ทำมึนๆ เหมือนไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ เราจึงทำภาษามือไปอีก แต่นางก็ยังตีมึนเหมือนเดิม และพาพวกเราเดินถ่ายรูปไปแบบรีบๆ เหมือนจะรีบเดินให้เสร็จๆ ไป ไล่ยังไงนางก็ไม่ไป พวกเราจึงสลายตัว ต่างคนต่างแยกไปถ่ายรูปคนละทิศละทางเพื่อไม่ให้ไกด์ไม่ได้รับเชิญเดินตามมาอีก
ระหว่างเดินถ่ายรูป เราก็เห็นนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ (ที่มากัน 2-3 คน) ก็เดินถือรองเท้าเข้ามาได้ และก็ไม่มีใครเดินตามแบบกลุ่มพวกเราด้วย จึงถึงบางอ้อว่าพวกนี้คงเล็งกลุ่มเราไว้ตั้งแต่แรกแล้ว จึงจัดเต็มแบบนี้ ส่วนไกด์ไม่ได้รับเชิญนางก็ไม่ย่อท้อ ไล่เดินตามหาเรา และน้องอีกคนหนึ่งเจอ พอใกล้ถึงเวลาออกก็กวักมือเรียกให้ออกไปด้านหน้าประตูที่เราเข้ามา

พอออกมาด้านหน้า สิ่งแรกที่พวกเราเรียกหาคือรองเท้า คนอินเดียที่ดีลกับเราตอนแรกก็ไม่อิดออดที่จะเอารองเท้ามาคืน (ง่ายกว่าที่คิดไว้ตอนแรก) แต่พอได้รองเท้าคืน ไกด์ไม่ได้รับเชิญก็ยังเดินตามมา พร้อมยื่นมือมาขอเงิน พร้อมพูดกับเราเพื่อขอเงินค่าไกด์ 500 รูปี เราปฏิเสธไป นางไม่ยอม ไปบอกกับคนอินเดียที่นั่งอยู่แถวนั้นให้มาพูดกับเรา ได้ความว่า นางเป็นไกด์ให้ เก็บรองเท้าให้ด้วย ต้องจ่ายเงินให้ด้วยสิ เราจึงตอบคนนั้นไปว่า เราบอกไปแต่แรกแล้วว่าไม่ต้องการไกด์ แต่นางไม่ฟังและยังเดินตามตลอดเวลา ดังนั้นเราไม่จ่ายให้แน่นอน เพราะเราปฏิเสธแต่แรกแล้ว คนอินเดียคนนั้นเลยเดินกลับไป ส่วนไกด์ไม่ได้รับเชิญนางเห็นท่าไม่ดี ดูแล้วคงไม่ได้ตังค์ นางเลยทำภาษามือประมาณว่าขอแค่ 10 รูปีก็ได้ (ลดค่าตัวไวมาก) แต่เราก็ยังยืนกรานว่า “Nooooooo” นางเลยทำท่ากระฟัดกระเฟียดแล้วเดินกลับไป

ถือว่ารอบนี้โดนแขกหลอก แต่ไม่สำเร็จ สะใจมาก (แต่ก็เพลียสุด ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้)

DSC03322

หากใครต้องการถ่ายรูปในที่ที่เงียบสงบ คนน้อย ที่นี่ไม่ตอบโจทย์อย่างแรง

DSC03297

DSC03323

DSC03302

ลองคิดดูว่าถ้าสถานที่สวยๆ แบบนี้ อยู่ในประเทศที่ดูแลดีกว่านี้ มันคงจะดีมาก

DSC03304

DSC03312

แสงยามเย็นที่ Jama Masjid

DSC03321

ออกจาก Jama Masjid เราก็นั่ง MRT ต่อไปที่สถานี Rajiv Chawk (สายสีเหลือง) เพื่อหาอาหารเย็นกินแถว Connaught Place (ประมาณสยามบ้านเรา) โชคดีที่เจอร้าน Nando ทำให้มื้อแรกในอินเดียผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

Connaught

แต่วิบากกรรมในเดลียังไม่หมดแค่นั้น เพราะช่วงเวลา 2-3 ทุ่มที่เรากำลังจะกลับโรงแรม เป็นช่วงเดียวกับที่คนอินเดียกำลังจะกลับบ้าน ทำให้ MRT อัดแน่นไปด้วยคนอินเดียเต็มคันรถ พอถึงแต่ละสถานี คนในรถก็แย่งกันออก คนข้างนอกก็แย่งกันเข้า จัดเป็นวิบากกรรมที่ทรมานพวกเรามากทั้งกลิ่นและความแออัด (นึกแล้วจะเป็นลม)

พอกลับมาถึงสถานี MRT New Delhi ก่อนจะเปลี่ยนไป Airport Express Line พวกเราจึงเอาบัตรเติมเงินที่ซื้อ ไปคืนเพื่อเอาค่ามัดจำบัตร ไม่น่าเชื่อว่าขนาดเจ้าหน้าที่ของ MRT ก็พร้อมที่จะโกงเราเช่นกัน โดยบอกกับน้องที่เอาบัตรไปแลกคืนว่า ได้เงินคืนแค่ใบละ 35 รูปี แต่น่าเสียดายที่ด้านหน้าเคาน์เตอร์ มีป้ายเขียนบอกชัดเจนว่าเงินมัดจำคือ 50 รูปี เจ้าหน้าที่คนนั้นจึงหมดโอกาสโกงเราไปโดยปริยาย

หมดไปแล้วกับครึ่งวันแรกในเดลี ที่สร้างความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายใจให้กับเราและเพื่อนร่วมทริปอย่างมาก โดยส่วนตัวคิดว่า การเข้าไปเที่ยวในเดลีครั้งนี้ เป็น First Impression ที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไร ทั้งที่ก่อนมาก็หาข้อมูล + เตรียมตัวเตรียมใจมาแล้ว แต่เจอของจริงก็มีอึ้งไปเหมือนกัน หากใครมาเที่ยวเลห์ และมีเวลาครึ่งวันแบบเรา ถ้าอยากสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ลองให้รู้ว่าอินเดียของจริงเป็นยังไง ก็เข้ามาเที่ยวในเดลีได้ แต่ถ้าใครไม่พร้อม หวั่นใจกลัวโดนเล่ห์กลโกงต่างๆ แนะนำให้จอง รร.ดีๆ ใกล้สนามบินและนอนพักผ่อนเก็บแรงให้เต็มที่จะดีกว่า

Julley!!!

ตี 3 คือเวลาที่เราต้องไปถึงสนามบิน ผ่านขั้นตอนการตรวจหลาย step เหมือนคนย้ำคิดย้ำทำ
จนในที่สุดเราก็ใกล้มาถึง Leh Ladakh กันสักที

DSC03331

Leh ต้อนรับเราด้วยวิวเทือกเขาที่สวยงาม
(ขาไปแนะนำให้จองที่นั่งฝั่งซ้าย ถ่ายรูปจะได้ไม่ย้อนแสง)

DSC03344

เมื่อถึงสนามบิน ก็สัมผัสได้ถึงอากาศที่มี Oxygen เบาบาง รู้สึกหายใจไม่อิ่มตลอดเวลา เหนื่อยง่ายกว่าที่เคยเป็นทั้งที่เราออกกำลังกายเป็นประจำ นี่สินะอาการเมื่อต้องอยู่บนที่สูงจากระดับน้ำทะเลแบบนี้ พอรับสัมภาระเรียบร้อย ก็ออกมาเจอกับรถของที่พักที่มารอรับเราอยู่ด้านหน้า

อากาศบริสุทธิ์ใน Leh ที่วาดฝันไว้จากการอ่านรีวิว กลับเต็มไปด้วยกลิ่นน้ำมันจากท่อไอเสียของรถยนต์ และฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ พอเข้าใกล้เมือง กลิ่นน้ำมันก็ยิ่งแรงมากกว่าเดิม ที่หายใจไม่อิ่มอยู่ตั้งแต่แรก พอเจออากาศและกลิ่นแบบนี้ยิ่งทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิมไปอีก ขอหักคะแนน Leh ก่อนเลย 1 คะแนน

DSC03356

เดินผ่านตอนแรก ไม่คิดว่าที่นี่คือร้านอาหาร

เราขอให้คนขับช่วยแวะร้านค้าเพื่อซื้ออาหารเช้าเข้าไปกินที่ที่พัก โชเฟอร์พามาจอดในตลาดเล็กๆ ห่างจากใจกลางเมืองพอควร เดินสำรวจร้านค้าก็ไปเจอร้านนึงที่ยังขายอาหารเช้าอยู่ มื้อแรกที่เลห์ ก็คือแผ่นแป้ง (คล้ายๆ โรตี แต่หนากว่า) กินคู่กับไข่เจียว (ซึ่งเจียวจากไข่แดงที่มีสีขาวมาก แปลกดี) รสชาติจืดๆ ต้องกินคู่กับซอสมะเขือเทศที่ที่พักเตรียมมาให้ถึงจะโอเคหน่อย

Leh 02

DSC03387

ไข่เจียวสีขาวกับแผ่นแป้ง อาหารมื้อแรกที่ Leh

ที่พักของเรา 2 คืนแรก เลือกที่จะพักที่พักที่ดี และบรรยากาศโดยรอบสงบ วิวสวยๆ ให้เหมาะแก่การพักผ่อน เราจึงเลือกพักที่ Woodyvu Stok House อยู่ในเขต Stok ซึ่งห่างจากใจกลางเมือง Leh ประมาณ 20 นาที ช่วงที่จองตรงกับ Hemis Festival พอดี ทำให้ราคาที่พักสูงกว่าปกติ (ห้องละประมาณ 5,xxx ต่อคืน) แต่ก็ยอมจ่ายเพื่อแลกกับการพักผ่อนในช่วงที่ต้องปรับตัวกับสภาพอากาศ  (จองห้องพักสามารถติดต่อกับทาง Facebook Page ของ Woodyvu ได้โดยตรง)

DSC03545

DSC03555

DSC03552

วิวและบรรยากาศรอบๆ Woodyvu ที่พักที่แรกของเราใน Leh
ต่อให้ออกไปไหนไม่ได้ แต่วิวรอบๆ ก็สวยจนหยุดถ่ายรูปไม่ได้เลย

DSC03381

ห้องนั่งเล่นรวมของที่พัก มานั่งวางแผนเที่ยว หรือจะกินขนมตรงนี้ก็ได้

DSC03364

วิวจากระเบียงห้องพัก ลมพัดผ่านประตูเข้ามา สบายมากๆ

DSC03368

ห้องนอนสวยงาม สะอาดใช้ได้

หลังจากอิ่มท้อง ก็นอนพักผ่อนกันไปประมาณ 4-5 ชม. ช่วงบ่ายไกด์จึงมาหาเราที่ที่พัก เพื่อสรุปแผนการเดินทาง และจองที่พักในวันที่เหลือเพิ่มเติม จากนั้นจึงเริ่มออกเดินทางไปตามโปรแกรมของวันแรก คือ เที่ยวในตัวเมือง ชมวิวที่ Shanti Stupa และ Leh Palace

DSC03447

Shanti Stupa สร้างโดยพระ (หรือลามะ) ชาวญี่ปุ่นคำว่า Stupa น่าจะคล้ายๆ คำว่า “สถูป” หรือ “เจดีย์” ด้านในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากที่เห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีความสำคัญทางศาสนาพุทธมักจะสร้างอยู่บนเขา ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นมาสักการะบูชา และชมวิวมุมสูงจากสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

DSC03448

DSC03471

มาเที่ยวช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. เตรียมตัวพบนักท่องเที่ยวอินเดียกันได้เลย
เพราะช่วงนี้ตรงกับฤดูร้อนในอินเดีย ส่วนใหญ่เลยหนีร้อนมาหาอากาศเย็นๆ ที่ Leh กันทั้งนั้น

DSC03421

มาเที่ยวที่แรก วิวสวยๆ แบบนี้ก็ทำให้เราหลงรัก Leh ได้ไม่ยาก

DSC03411

DSC03416

DSC03441

จาก Shanti Stupa สามารถมองเห็น Leh Palace ได้

DSC03475

ว่ากันด้วยเรื่องห้องน้ำ…

ขอแนะนำว่าห้ามอ่านก่อนหรือขณะรับประทานอาหารอยู่

ความน่าลำบากใจในการท่องเที่ยวที่ Leh (โดยเฉพาะสาวๆ) คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ห้องน้ำ”

จากรูปด้านบน จะเห็นได้ว่าห้องน้ำที่นี่ดูน่าลึกลับ อยู่ในที่แปลกๆ และคาดเดาไม่ได้ว่าถ้าเปิดประตูเข้าไปจะได้พบกับอะไรในนั้น…
ส่วนมาก ห้องน้ำตามสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่จัดว่า “พอใช้ได้” คือบางที่ก็จะมีโถส้วม หรือไฮโซหน่อยก็อาจจะมีชักโครก แต่หลายๆ ที่ก็ยังคงความอนุรักษ์นิยม ไม่ต่างจากห้องน้ำที่อยู่ตามระหว่างทาง นั่นคือ “ส้วมหลุม”

“ส้วมหลุม” ใน Leh ก็มีหลากหลายแบบ จากประสบการณ์การเข้าส้วมหลุมของน้องผู้หญิงในทริป พบว่า มีทั้งหลุมแบบโล้นๆ มองลงไปเห็นพื้นด้านล่าง, บางที่ดีหน่อยตรงรอบๆ หลุมจะมียกระดับให้สามารถก้าวเท้าขึ้นไปนั่งได้ คล้ายๆ ส้วมซึม (แต่ก็อาจมีสิ่งปฏิกูลสีเหลืองๆ ติดอยู่ตามขอบหากเล็งไม่แม่น), บางที่จะเป็นหลุมที่มีตะแกรง กั้นไม่ให้สิ่งปฏิกูลชิ้นใหญ่ร่วงหล่นลงไป (ปัสสาวะได้อย่างเดียว) หรือบางที่ก็ไม่มีหลุม มีแต่ห้อง เลือกมุมที่จะปลดทุกข์ไปได้เลย แต่ที่ทุกส้วมหลุมมีเหมือนกันคือ “กลิ่น”

ดังนั้น สาวๆ ที่คิดจะแต่งตัวสวยๆ ห้อยผ้าระโยงระยางเต็มตัว กรุณาปลดเปลื้องทุกสิ่งอย่างให้หมด ก่อนจะเข้าห้องน้ำที่ Leh
หรือถ้าคิดว่าฉันรับสภาพห้องน้ำแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ อาจต้องเตรียมแพมเพิร์ส หรือร่มไว้กางปลดทุกข์ตามข้างทางแทน หรือถ้าท้อใจกับสิ่งที่เล่าให้ฟังมานี้ ก็เลือกที่เที่ยวใหม่ไปเลยดีกว่า

DSC03522

จาก Shanti Stupa นั่งรถผ่านตลาด มาที่ Leh Palace ที่นี่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงเช่นกัน มีทั้งหมดประมาณ 8-9 ชั้น ซึ่งถ้าจะเดินให้ครบทุกมุม ก็ต้องอดทนปีนขึ้นไป แต่การออกแรงในวันแรกกับสภาพอากาศที่มี Oxygen เบาบางแบบนี้ อย่าหักโหม เพราะขึ้นบันไดไป 3-4 ขั้นก็จะแย่แล้ว ควรพักตามชั้นต่างๆ เป็นระยะ หรือถ้าขึ้นไม่ไหวก็หามุมสงบ ถ่ายรูปสวยๆ รอเพื่อนไปก่อนก็ได้ เพราะวิวที่นี่ก็ดีงามไม่แพ้ที่แรก

DSC03493

ตากล้องหลายคน เดินหามุมกันทั่วทุกซอกมุมของ Leh Palace

DSC03487

ธงมนต์ 5 สี ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของชาวพุทธใน Leh หากบ้านใดเป็นพุทธ บ้านนั้นจะมีธงมนต์ประดับบ้านไว้
แต่ละสี มีความหมายที่แตกต่างกัน เริ่มด้วยสีแดง = Fire (ไฟ), สีขาว = Air (อากาศ),
สีน้ำเงิน = Water (น้ำ), สีเหลือง = Land (ดิน), สีเขียว = Environment

DSC03492

วิวเมือง จาก Leh Palace

DSC03508

DSC03509

เห็น Shanti Stupa จากภูเขาอีกลูกหนึ่ง

DSC03541

ระหว่างเดินลงจาก Leh Palace มาที่ตลาด เจอน้องคนนี้ตะโกนทักทาย น่ารักเชียว

หลังจากเดินเที่ยว Leh Palace จนครบแล้ว ไกด์ก็พาพวกเราเดินลงมาที่ตลาดเพื่อซื้ออาหารเย็นกลับเข้าไปกินที่ที่พัก มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านของฝาก และนักท่องเที่ยวเดินกันคึกคัก แต่วันแรกยังไม่ได้แพลนจะช็อปปิ้ง เลยได้แต่เดินเล่นชมผู้คนและร้านค้าไปเรื่อยๆ

DSC03391

DSC04098

DSC04108

DSC04100

ผู้ชายอินเดียเขามีความสนิทถึงเนื้อถึงตัวกันเกิ๊น สาววายคงฟิน 555

DSC04104

DSC04112

DSC04119

DSC04122
ร้านหนังสือที่นี่มีหนังสือเกี่ยวกับ Leh เยอะเลย ทั้ง Photobook, แผนที่ ใครชอบหนังสือแบบนี้คงฟิน

Leh 03

DSC04279

อีกร้านที่อยากแนะนำคือ Brazil Cafe เป็นคาเฟ่น่ารัก เค้กอร่อย ราคาก็พอๆ กับคาเฟ่บ้านเรา
มีคุณป้า Olive เจ้าของร้านซึ่งเป็นคนอินเดีย เป็นคนทำเค้กอร่อยๆ พวกนี้
สาเหตุที่ชื่อ Brazil Cafe เพราะสามีคุณป้าเป็นคน Brazil ( ไม่แน่ใจว่ากาแฟเอามาจาก Brazil ด้วยหรือเปล่า)
เมนูที่เราได้ลองสั่งมาก็คือ Cheese cake กับ Impossible cake ซึ่งเป็นเค้กที่คุณป้าคิดสูตรเอง
เป็นเค้กช็อกโกแลตที่ด้านบนเป็นโยเกิร์ต แต่ Texture คล้ายๆ สังขยาบ้านเรา อร่อยมาก ใครมาเดินตลาดอย่าลืมแวะไปร้านป้าด้วย

Hemis Monastery

เป็นความโชคดีของพวกเราที่มาตรงกับงาน Hemis Festival ที่โด่งดังเรื่องระบำหน้ากากพอดี (จัดทุกปีช่วงเดือน ก.ค. ปีละ 2 วัน) ซึ่งจุดประสงค์ของการแสดงระบำหน้ากาก เพื่อเป็นการบูชา Protector (ตามที่ไกด์เล่ามา ประมาณเป็นเทพผู้พิทักษ์รักษาอะไรประมาณนี้) โดยวันแรกจะเป็นระบำหน้ากากแบบจัดเต็ม ยิ่งใหญ่มาก คนจะเยอะมากเป็นพิเศษ แต่เราได้มาในวันที่ 2 ซึ่งก็ถือว่าคนเยอะอยู่ (แต่คงไม่แย่เท่าวันแรก) ไกด์บอกว่าวันนี้ระบำหน้ากากก็จะเป็นชุดเล็ก ไม่อลังการณ์เท่าวันแรก แต่ก็พอให้เราได้สัมผัสบรรยากาศได้

วัด Hemis ถือเป็นวัดที่สำคัญของ Leh อีกวัดหนึ่ง ไกด์เล่าให้ฟังว่าในช่วงที่มีสงคราม มีหลายๆ วัดใน Leh ที่ถูกทำลาย แต่วัด Hemis ไม่ถูกทำลายเพราะไม่มีคนเห็น เนื่องจากวัดตั้งอยู่บนเขาซึ่งมันหลบมุมเขาพอดี (ขนาดนั่งรถขึ้นไปยังไม่เห็นเลยว่ามีวัด จนใกล้ๆ ถึงวัดแล้วจึงเห็น) และวัดนี้จะมีหลายๆ ส่วนของวัดที่ปิดไม่ให้เข้าในช่วงเวลาปกติ แต่ในช่วงเทศกาลแบบนี้เปิดให้เข้าชมทุกส่วนของวัดเลย นับเป็นบุญของเราที่ได้มาชม

DSC03557

DSC03564

วิวระหว่างทางไปวัด Hemis

DSC03568

DSC03570

DSC03572

DSC03573

DSC03622

มาถึงแต่เช้าคนยังไม่เยอะมาก จับจองที่นั่งกันได้ตามสะดวก

DSC03580

DSC03585

ระบำช่วงเช้ายังไม่ใส่หน้ากาก (แอบผิดหวังนิดหน่อย) ไกด์บอกให้รออีกรอบตอน 11 โมง
พวกเราเลยเดินเล่นถ่ายรูป ชมวัดกันไปก่อน

DSC03608

DSC03619
พระที่นี่เรียก “ลามะ” มีลามะน้อยเยอะไปหมด ไม่ค่อยสำรวมกันเท่าไร 555
เดินเล่นปืนแก๊ป วิ่งไปวิ่งมากันทั่ว
ใครชอบถ่าย Street คงมีความสุขมาก มีอะไรให้ถ่ายเต็มไปหมด

DSC03596

DSC03604

DSC03606

DSC03637

DSC03633

DSC03639

ดูเก๋าๆ มีความเป็น Gangster (เอ๊ะ นี่พูดถึงพระอยู่หรือเปล่าเนี่ย)

DSC03679

ประมาณ 11 โมง พวกเราเดินกลับมาที่ลานเดิมอีกครั้งเพื่อชมระบำหน้ากากชุดต่อไป
คราวนี้ใส่หน้ากากแบบจัดเต็มกันมาเลย ลักษณะการเต้นก็เต้นวนลูปท่าเดิมๆ จนดูไปแล้วก็สามารถเต้นตามได้
แต่ที่ยังไม่เข้าใจก็คือ อยากรู้ว่าแต่ละหน้ากากที่ใส่มีความสำคัญอย่างไรบ้าง

DSC03695

DSC03701

DSC03658

ออกจาก Hemis Monastery จุดหมายต่อไปในวันนี้ของเราคือ Thiksey Gompa เป็นวัดที่อยู่บนภูเขา (เหมือนเดิม) แต่ก่อนไปถึงก็ต้องแวะหาอะไรกินกันก่อน ด้วยความอยากกินเนื้อสัตว์มาก เราจึงบอกไกด์ให้พาไปร้านไหนก็ได้ที่มีไก่ (เนื้อที่นี่มีให้เลือกแค่ไก่กับแพะ) ไกด์บอกว่ามีอยู่ร้านหนึ่งระหว่างทาง แต่ราคาแพงหน่อยนะ ด้วยความอยากไก่มาก เราจึงไม่สนเรื่องราคาอีกต่อไป

Leh 04

Cafe Cloral คือร้านที่ไกด์พาเรามากินมื้อเที่ยง ร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมที่ไกด์บอกว่าหรูและแพงมากๆ ใน Leh
อาหารที่นี่มีทั้งตามสั่ง และ Buffet ที่จะเป็นอาหารมังสวิรัติ พวกเราอยากกินเนื้อ Buffet จึงตัดไป เลือกสั่งพิซซ่า สปาเก็ตตี้ รวมอาหารประมาณ 4 อย่าง ราคาที่ว่าแพงเราว่าก็พอๆ กับกินร้านอาหารตามห้าง (พอจ่ายไหวอยู่) ถ้าใครโหยหาเนื้อไก่ ก็บอกไกด์ให้พามาแวะร้านนี้ได้ อร่อยดี

Thiksey Gompa

ที่นี่ก็เป็นวัด (อีกแล้ว) องค์ประกอบภายในวัดที่นี่ ก็คล้ายๆ กับที่อื่น แต่อาจจะไม่ใหญ่โตเท่ากับ Monastery อื่นๆ
แต่ที่ประทับใจและดีงามมากที่สุด ก็คือ วิว
Landscape ของที่นี่สวยงาม แปลกตา และขอยกให้วิวที่นี่สวยที่สุดใน Leh ไปเลยละกัน

DSC03739

ภูเขาทับซ้อน มีความสวยงามเป็น Layer 

DSC03742

เดินไปทางด้านหลัง ก็จะเจอวิวนี้

DSC03774

แบ่งพื้นที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่สีเขียว และพื้นดิน สวยมาก!!!

DSC03770

DSC03777

Shey Palace

Shey Palace อยู่ไม่ห่างจาก Thiksey Gompa อยู่บนที่สูง (อีกแล้ว) เหมือนๆ กับที่อื่น (แต่พอเดินขึ้นไหวอยู่)
ที่นี่อาจจะไม่ได้ใหญ่โตเท่า Leh Palace และดูทรุดโทรมกว่า แต่วิวรอบๆ ของที่นี่ก็สวยงามเช่นกัน

DSC03789

DSC03790

DSC03793

On the way to Nubra Valley

เราเลือกที่จะไปค้างที่ Nubra 1 คืน เพื่อไม่ให้เดินทางเหนื่อยจนเกินไป และได้มีเวลาถ่ายรูปสบายๆ
โดยเป้าหมายตอนแรกที่คิดไว้ คือจะไปไกลถึงหมู่บ้าน Turtok ซึ่งอยู่ไกลจาก Nubra ไปอีกประมาณ 2 ชม.
แต่ไกด์แนะนำให้ใช้เวลาอยู่ที่ Nubra ดีกว่า ส่วนอีกวันจะพาไปแวะที่อีกเมืองใกล้ๆ
ซึ่งมี Sand dune อยู่ จะได้เที่ยว Sand dune 2 ที่ไปเลย

การเดินทางไป Nubra Valley จะต้องข้ามเขาและผ่าน Khardung La Pass ซึ่งเป็นถนนที่สูงที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงแนะนำให้พักอยู่ใน Leh อย่างน้อยสัก 2 วันก่อนจะข้าม Pass เพราะ Oxygen บนนี้เบาบางมาก ถ้าร่างกายปรับตัวยังไม่ได้ มีหวังได้เป็น Altitude sickness แน่นอน

DSC03819

ระหว่างทางมีวิวสวยๆ ให้ดูตลอด อย่าเผลอหลับล่ะ

DSC03832

ถนนที่ขับลัดเลาะตามเขาขึ้นมา บางช่วงมองลงไปด้านล่าง คือ เหว
มีเพียงก้อนหินเล็กๆ กั้นขอบทางไว้ ถ้ารถพลาดตกลงไปไม่อยากจะคิด
เวลานั่งรถก็คิดถึงหน้าพ่อแม่ และสวดมนต์ก่อนออกรถเพื่อความสบายใจกันไป
ยิ่งสูง ก็ยิ่งหนาว ที่ Pass ด้านบนได้พบกับพายุหิมะด้วย เรียกได้ว่าวันเดียวครบทุกฤดู

DSC03878

หลังขับลงจาก Pass ประมาณ 2 ชม. เราก็มาแวะกันที่ Diskit Monastery
เป็นอีกวัดที่มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนในละแวกนี้

DSC03868

วิวบนนี้ก็สวยงาม มองไปไม่ไกลจะเห็น Sand dune ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเรา

DSC03854

DSC03884

ไม่ไกลกันจะมีรูปปั้นของ Future Buddha ที่ใหญ่ที่สุด ประดิษฐานอยู่

DSC03882

เหลือบมองไปทาง Sand dune ก็ได้แต่เซ็ง เพราะพายุทะเลทรายกำลังพัดมาอย่างแรง
อ้าปากคุยกัน ทรายเข้าเต็มปากไปหมด โปรแกรมขี่อูฐช่วงเย็นวันนี้ดูท่าจะล่มแน่ๆ

DSC03904

DSC03901

ไกด์จึงเปลี่ยนแผนพาเราเข้าที่พักเพื่อรอพายุสงบก่อน
ที่พักคืนนี้ของเรา คือ Sand Dunes View Guesthouse อยู่ในหมู่บ้าน Hunder ไม่ไกลจาก Sand dune ที่เราจะไป

DSC03890

Leh 05

เราได้ห้อง 107 อยู่บนชั้น 2 วิวดีมาก ภายในห้องก็สะอาดใช้ได้เลย และที่สำคัญคือ ที่นี่มี Wifi ให้ใช้ หลังจากถูกตัดขาดจากโลกออนไลน์มา 2 วัน
ดีใจมากที่จะได้ติดต่อหาพ่อแม่เพื่อบอกว่ายังมีชีวิตอยู่ และจะได้อัพรูปสวยๆ ด้วย แต่ Wifi ที่นี่ เริ่มเปิดให้เล่นเมื่อไฟมา (ประมาณ 1 ทุ่ม จะเปิดเครื่องปั่นไฟ) ตอนกลางวันถึงเย็น ไม่มีไฟฟ้าใช้นะ มีความสุขกับธรรมชาติรอบๆ ไปละกัน

DSC03926

หลังจากนั่งรอพายุสงบมาพักใหญ่ พายุก็ไม่มีวี่แววจะหมดลง ไกด์จึงชวนพวกเราไปเดินเล่นไม่ไกลจากที่พัก
ซึ่งในวิกฤตที่ทำให้แพลนเปลี่ยน แต่ก็ยังโชคดีที่วิวใกล้ๆ ที่พักของเราสวยมาก เป็นสถานที่ถ่ายรูปที่ยกให้เป็นที่ 1 ในใจสำหรับทริปนี้ ลองดูละกันครับว่าวิวแถวนี้สวยงามขนาดไหน

DSC03930

DSCF8270

DSCF8299

DSC03960

ชาวบ้านแถวนั้นก็พาวัว พาแพะมาเดินเล่นกัน ส่วนคนที่เดินไปก็อย่าลืมมองพื้นด้วย
ไม่งั้นอาจเหยียบอึที่น้องแพะน้องวัวฝากไว้ได้

DSC03918

DSC03920

DSC03933

DSC03938

DSC03943

DSC03961

เพราะพายุทะเลทรายเมื่อวาน ทำให้ต้องเปลี่ยนไปเที่ยว Sand Dune ในวันต่อมาแทน (และอดไป Sand dune อีกที่ที่แพลนไว้)

โชคดีที่อากาศวันนี้เป็นใจอย่างมาก

DSC03971

DSC03974

ไฮไลท์ของวันนี้ คือ การมาขี่อูฐที่ทะเลทรายนี่แหละ ตอนแรกก็สงสัยว่าอูฐพวกนี้มาอยู่ที่นี่ได้ไง ไกด์เลยเล่าให้ฟังว่า ในอดีต เคยมีพ่อค้าต่างชาติ (น่าจะเป็นพวกมองโกเลีย) ต้องการซื้ออูฐจาก Leh เพื่อนำไปใช้งานที่ประเทศของตน แต่พอระหว่างทาง อูฐพวกนี้ก็เริ่มบาดเจ็บ ล้มป่วยกันไปบ้าง พ่อค้าเหล่านั้นจึงทิ้งอูฐไว้ที่ Sand dune ที่ Nubra แล้วซื้อม้าขี่ต่อไปแทน ทำให้อูฐพวกนี้ออกลูกออกหลาน แล้วก็อาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

DSC04087

DSC03995

DSC03998

สำหรับเวลาทำการของน้องอูฐพวกนี้ เริ่ม 9 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น
มีช่วงเบรกประมาณบ่าย 2 ถึง 4 โมงเย็น ค่าขี่อูฐ 200 รูปี / 15 นาที
แนะนำว่าถ้าใครอยากได้รูปสวยๆ ให้ผลัดกันขี่ ผลัดกันถ่ายรูป จะได้ภาพงามๆ
แต่พวกเรามีเวลาไม่มาก เลยนั่งพร้อมกันไปเลย รูปสวยๆ เลยไม่มี 555

DSC04021

ถ่ายมาได้แต่บรรยากาศบนหลังอูฐ มือนึงจับกล้อง อีกมือจับเชือกที่คล้องอูฐไว้แน่นเพราะกลัวตก

DSC04050

DSC04055

ถ่ายรูปสวยๆ ตอนขี่อูฐมาได้ แต่เป็นรูปคนอื่นแทน T_T

DSC04079

DSC04042

ขี่อูฐเสร็จอย่าลืมเดินเล่นรอบๆ Sand dune มีมุมสวยๆ ให้ถ่ายรูปเยอะอยู่นะ

DSC04094

ระหว่างเดินทางกลับ ก็มีวิวสวยๆ ให้ถ่ายรูปได้เรื่อยๆ

DSC04096

 

One day trip to Pangong Tso

เนื่องจากเวลาที่มีจำกัด และแพลนที่เปลี่ยนไปจากตอนแรก เดิมทีตั้งใจว่าจะเดินทางจาก Leh ไป Nubra (ค้างที่ Nubra 1 คืน) จาก Nubra ไป Pangong (ค้างที่ Pangong 1 คืน) แล้วค่อยกลับ Leh พวกเราถูกทักท้วงจากไกด์ว่า เส้นทางจาก Nubra ไป Pangong ทางไม่ดี และมักจะมีปัญหาทำให้รถเดินผ่านไปไม่ได้ ไกด์จึงแนะนำให้กลับจาก Nubra มาที่ Leh ก่อน แล้วค่อยไป Pangong อีกวันแทน

พวกเราจึงมีเวลาจำกัดในการเที่ยวที่ Pangong และน่าเสียดายมากที่มีเวลาให้ Pangong น้อยไป ใครกำลังแพลนมาเที่ยว Pangong แนะนำว่าควรไปค้างที่นั่นสักคืน เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เพราะถ้าไปเช้ากลับเย็นแบบเรา คุณจะไปถึง Pangong ตอนเที่ยง ซึ่งแสงตกลงหัว เงาเต็มๆ หน้า และมีเวลาถ่ายรูปไม่ถึง 2 ชม. คุณก็ต้องรีบกลับ ทั้งที่เสียเวลานั่งรถไปกลับเกือบ 12 ชม.

DSC04136

ทางไป Pangong จัดว่าเยินกว่าทางไป Nubra หลายเท่า มีช่วงที่เป็นทางลูกรังที่ยาวกว่า มีถนนบางช่วงถูกน้ำเซาะต้องขับรถลุยน้ำ ซึ่งพื้นด้านล่างถนนเป็นหินตะปุ่มตะป่ำ ทำให้ใช้เวลาเดินทางนาน (และลุ้นว่ามันจะรอดไหม) และเราก็ต้องผ่าน Chang La Pass ที่เป็นจุดสูงสุดของเขาลูกนั้น และได้เจอพายุหิมะอีกรอบ

ด้วยท้องฟ้าที่ขมุกขมัวตลอดทางที่มา ทำให้เรานั่งสวดมนต์ภาวนา ขอให้ฟ้าที่ Pangong ใสกว่านี้ เพราะถ้าฟ้าเน่า พวกเราจะเซ็งมากเพราะไม่ได้ค้าง ไม่มีเวลามาแก้ตัวเหมือนที่ Nubra อีกแล้ว และโชคดีที่หลังจากลง Pass เราก็ได้เจอฟ้าที่สดใส

DSC04144

DSC04150

สักพัก คนขับก็จอดรถให้เราแวะข้างทาง ซึ่งตรงนั้นมีตากล้องหลายคนจอดรถมาเล็งถ่ายรูปอะไรกันก็ไม่รู้ จนกระทั่ง…

DSC04145

“Marmot” ชื่อของสัตว์ที่หน้าตาคล้ายหนู ปนกระรอก ที่ตากล้องทั้งหลายกำลังรัวชัตเตอร์ใส่
ในฤดูหนาว Marmot จะจำศีลอยู่ในรูของมันประมาณ 6 เดือน และออกมาอวดโฉมให้เราเห็นช่วงฤดูร้อน

DSC04154

น้องรู้งาน นอนนิ่งให้ถ่ายรูปเชียว

หลังจากนั่งรถมาเกือบ 6 ชม. เราก็ได้มาถึงจุดหมายซะที

DSC04155

DSC04168

Pangong Tso เป็นทะเลสาบที่อยู่สูงที่สุดในโลก มีพื้นที่ประมาณ 30% อยู่ในเขตแดนประเทศอินเดีย ส่วนที่เหลืออยู่ในประเทศจีน (แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าที่จีนสามารถไปดูทะเลสาบนี้ได้ยังไง) ที่ทะเลสาบนี้โด่งดัง เพราะหนังอินเดียเรื่อง 3 Idiots มาถ่ายทำกันที่นี่ ทำให้มีป้ายของหนังเรื่องนี้เต็มไปหมด

DSC04209

DSC04156

ทะเลสาบกับท้องฟ้า ไม่รู้อะไรสีฟ้ามากกว่ากัน

จุดถ่ายรูป Pangong Tso ที่ไกด์พาเราไปมี 2 จุด จุดแรก (รูปด้านบน) เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาแวะถ่ายรูปกัน ถือว่าเป็นจุดที่สวยงาม แต่ก็ต้องทำใจที่จะต้องเจอกับนักท่องเที่ยวที่แย่งกันถ่ายรูป โดยเฉพาะ “คนอินเดีย” ที่ไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น อาจทำให้อารมณ์เสียได้เล็กน้อย และต้องอาศัยความไวในการแย่งชิงจุดถ่ายรูปให้ได้ เพราะที่นี่ไม่มีคำว่า “ต่อคิว”

DSC04211

ส่วนอีกจุด ต้องขับรถเลยจากจุดแรกมาอีกประมาณ 10 นาที มีนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยกว่า ทำให้บรรยากาศที่นี่เหมาะแก่การถ่ายรูปเพลินๆ วิวก็ดี ไม่ต้องแย่งกันถ่ายรูป หันไปทางไหนก็สวย เสียดายตรงที่เรามีเวลาตรงนี้แค่ครึ่ง ชม. เท่านั้น

DSC04216

DSC04214

น้ำใสจนเห็นเงาสะท้อนของภูเขาด้านหลัง

DSC04222

DSC04242

ถ่ายรูปไม่ว่ามุมไหนก็สวย

DSC04218

หลังจากใช้เวลาที่ Pangong ได้ไม่ถึง 2  ชม. ก็ต้องนั่งรถกลับ Leh

DSC04256

วิวข้างทางสวยๆ ที่ไกด์จอดรถให้เราแวะถ่ายรูป

DSC04264

DSC04263

 

Last day in Leh

ปิดทริปวันสุดท้ายที่วัด Alchi และชม Moonland ที่ Lamayuru  เส้นทางที่เราเดินทางกันวันนี้จัดว่าดีที่สุด เพราะทางส่วนใหญ่ลาดยาง ทำให้ใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก (แต่ก็นานอยู่) ระหว่างทางก็มีจุดให้เราแวะถ่ายรูปเยอะแยะมากมาย จัดเป็นวันปิดท้ายที่ดีมาก

DSC04294

 

Sangam Viewpoint

ระหว่างทางไป Lamayuru จะผ่าน Sangam Viewpoint ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำซันสการ์ (ขวา) และแม่น้ำสินธุ (ซ้าย) มาบรรจบกัน
เสียดายช่วงที่ไปน้ำสีน่าเกลียดมาก เพราะเป็นช่วงที่หิมะบนยอดเขาละลาย ดูเหมือนน้ำป่าไหลหลากลงมา สีเลยจะเยินๆ หน่อย

DSC04346

DSC04343

DSC04367

DSC04377

สะพานเหล็กที่เต็มไปด้วยธงมนต์ ก่อนถึงวัด Alchi

Alchi Temple

DSC04396

DSC04395

DSC04393

วัด Alchi เป็นวัดที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งใน Leh และมีความแตกต่างจากวัดอื่นๆ ตรงที่วัดนี้ไม่ได้อยู่บนเขาสูง กลับกันคือเราต้องเดินลงเพื่อเข้าไปสู่บริเวณวัด แต่ละโบสถ์มีพระพุทธรูปแต่ละปางประดิษฐานอยู่ภายใน ผนังวัดถูกวาดขึ้นตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน และยังมีของเดิมให้เห็นอยู่ ดูแล้วก็ได้แต่ทึ่งกับความเก่า และสายเส้นของคนสมัยก่อน ซึ่งมีความละเอียดมาก

Lamayuru : Moonland

DSC04414

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ดูแปลกตา คล้ายกับพื้นผิวของดวงจันทร์ ทำให้ที่นี่ได้ฉายาว่า “Moonland”
เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่คนรักการถ่ายรูปไม่ควรพลาด

DSC04409

DSC04421

Lamayuru เป็นอีกวัดหนึ่งที่มี Landscape ที่สวยงาม

DSC04457

DSC04447

DSC04444

DSC04451

DSC04459

บทส่งท้าย

ถ้าถามเราว่าชอบ Leh ไหม
ก็มีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบนะ

ถ้าพูดถึงส่วนที่ไม่ชอบ เราว่าอาจจะเป็นเพราะเราคาดหวังกับ Leh มากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องผู้คนและความสะอาด
อย่าลืมว่า Leh ก็คือส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย ดังนั้น คนที่มาทำมาหากินที่นี่ส่วนใหญ่ก็คนอินเดียนี่แหละ ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็มีคนอินเดีย ซึ่งมารยาทจัดว่าแย่ แซงคิวได้แซง เรื่องมุมถ่ายรูปก็แย่งกันเข้าไป บางทีมีจองคิวให้กันแบบทุเรศๆ ก็มี แต่ก็ยังดีที่พ่อค้า หรือคนที่มา contact กับนักท่องเที่ยวแทบทั้งหมดเราสามารถไว้ใจได้ ไม่โกงแบบในเดลี
ส่วนเรื่องความสะอาดของที่พัก หรือบ้านเมือง ขอหักคะแนนเยอะหน่อย เพราะที่พักที่ราคาถูกลงมา หรือพวก Guest house ที่เราเจอคือไม่สะอาด ดังนั้นหากใครรักความสะอาด ก็เลือกที่พักที่ดีหน่อย (ซึ่งราคาก็สูงขึ้นเช่นกัน) แต่ที่เราเจอก็ถือว่าพออยู่ได้ ทนๆ กันไป ประหยัดงบดี 555

อีกเรื่องที่ไม่ชอบ คือ อาหาร เพราะเราไม่ชอบกลิ่นเครื่องเทศ ไม่ชอบอาหารรสจืดๆ ไม่กินมังสวิรัติ โชคดีที่ตุนเสบียงจากไทยไปเยอะ ทำให้พอบรรเทาความหิวในยามที่ไม่มีตัวเลือก หรือยามที่เบื่ออาหารที่นั่นเต็มทีแล้ว แนะนำว่าถ้าใครกินยาก เตรียมของที่ชอบกินไปเยอะๆ จะทำให้อยู่ได้อย่างมีความสุข

ส่วนที่ชอบ…เราชอบความดิบของที่นี่
ความเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้ปรุงแต่ง เหมือนกับผู้หญิงที่สวยโดยไม่ต้องแต่งหน้าอ่ะ ดูยังไงก็เพลิน มุมไหนก็สวย ถ่ายรูปยังไงก็ดี เรียกได้ว่าที่นี่เป็นสวรรค์ของช่างภาพสาย Landscape อย่างแท้จริง หากใครรักการถ่ายรูปและชอบผจญภัย อยากให้ได้มาเก็บประสบการณ์ที่นี่สักครั้ง

ต้องขอบคุณทริปนี้ ที่ทำให้เราได้ก้าวผ่าน confort zone ของตัวเอง จากที่เคยตั้งใจว่ายังไงก็จะไม่มาอินเดีย
แต่เพราะวิวสวยๆ ที่ Leh ทำให้เรากล้าที่จะออกมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ ถึงจะมีหลายอย่างที่เราไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ไม่สะดวกสบาย
ก็ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ทำให้เราได้กลับมาเล่าต่อให้อีกหลายๆ คนได้ฟัง
ถึงแม้ Leh ในมุมมองของเราจะไม่ได้สวยงามไปซะทุกอย่าง แต่เราก็ไม่เสียใจที่ครั้งหนึ่งได้มาสัมผัสสถานที่บนโลกที่สวยงามแบบนี้สักครั้ง

ขอบคุณมากครับที่ตามอ่านกันมาจนถึงตรงนี้
แล้วถ้ามีโอกาส
…เราคงได้พบกันใหม่